ประวัติ ของ เกรียงไกร อัตตะนันทน์

จอมพลเกรียงไกร อัตตะนันทน์ เดิมชื่อ บุญสม อัตตะนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของเรือเอก ขุนรุตรณไกร (แฮนน์ อัตตะนันทน์) และนางเหม อัตตะนันทน์ จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. 2474 จนจบการศึกษาใน พ.ศ. 2477 และเริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งประจำกรมทหารราบที่ 7 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ปีเดียวกัน

ราชการครั้งสำคัญของจอมพลเกรียงไกร คือ ได้เข้าร่วมสงครามเกาหลี ในฐานะผู้บังคับกองพันทหารอาสาสมัครชุดแรกแห่งกรมผสมที่ 21 (ขณะนั้นมียศเป็นพันโท) ซึ่งกองทัพไทยจัดส่งไปร่วมรบกับสหประชาชาติในสงครามครั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2493 นับว่าเป็นผู้บังคับกองพันคนแรกของกองกำลังทหารไทย ที่ไปปฏิบัติราชการสงครามนอกประเทศ กองพันนี้ได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่า เป็นกองกำลังที่มีความสามารถสูง และทำการรบด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว จนได้รับสมญานามว่า "กองพันพยัคฆ์น้อย"

จากการร่วมรบครั้งนี้ จอมพลเกรียงไกรจึงได้รับเหรียญบรอนซ์สตาร์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องหมายยืนยันความสามารถและความกล้าหาญของท่าน ภายหลังเมื่อท่านกลับมาที่ประเทศไทยแล้ว ก็ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 (กองพันพยัคฆ์น้อย) และได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมผสมที่ 21 เมื่อ พ.ศ. 2496 (ปัจจุบันหน่วยนี้คือ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)

ตำแหน่งราชการของท่านที่สำคัญอีกตำแหน่งคือ เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังรบที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ในช่วง พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2503

ตำแหน่งราชการครั้งสุดท้ายของจอมพลเกรียงไกร คือ แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2512 (ขณะนั้นมียศเป็นพลโท) และได้รับหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการป้องการการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เขต 1 อีกตำแหน่งหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในขณะนั้นเป็นไปอย่างรุนแรง

จอมพลเกรียงไกร อัตตะนันทน์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่จังหวัดราชบุรี ระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติราชการ เพื่อวางแผนปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2515 พร้อมกันกับคณะนายทหารที่ร่วมเดินทางด้วยกันอีก 12 คน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศจอมพลเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 และยังได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการพระราชทานเพลิงศพ ที่เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2516 อีกด้วย